เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นางพัทธนันท์ นิลพัฒน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 (สพป.ตรัง เขต 2) เป็นประธานการประชุม Symposium และสรุปโครงการการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนโดยใช้แนวทางการมุ่งประสบการณ์ทางภาษาของนักเรียนเครือข่ายบูรพาศึกษา อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ณ โรงเรียนบ้านบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.จุติพร อัศวโสวรรณ ในนามคณะกรรมการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผู้บริหารสถานศึกษาเครือข่ายบูรพาศึกษา อำเภอกันตัง (โรงเรียนบ้านบางหมาก โรงเรียนตะเคียนหลบฟ้า โรงเรียนบ้านป่าเตียว และโรงเรียนวัดควนธานี) พร้อมคณะครู และนักเรียน เข้าร่วม ระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2567
.
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ภายใต้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีเป้าหมายหลักที่สำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนร่วม พัฒนาวิชาชีพ โรงเรียนในพื้นที่บริการ เพื่อสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในการพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน และใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการ ศึกษาวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาครูในโรงเรียน เพื่อการไปยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของโรงเรียนร่วม พัฒนาวิชาชีพ ซึ่งเป็นพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย ในโครงการการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แนวทางการมุ่งประสบการณ์ทางภาษาเพื่อพัฒนา ทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์เขียนของนักเรียนเครือข่ายบูรพาศึกษา อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
.
โดยครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลงานนักเรียนการอ่านและการเขียน ในกิจกรรรม Symposium และสรุปโครงการ มีการเสวนาจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แนวทางการมุ่งประสบการณ์ทางภาษาเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการนิทานของหนู ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 พัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียน กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการจากแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แนวทางการมุ่งประสบการณ์ทางภาษาเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนสู่การวิจัยชั้นเรียน และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการของผู้บริหารจากชั้นเรียนสู่โรงเรียน