สพป.ตรัง เขต 2 ประชุมผู้อำนวยการสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สังกัด สพป.ตรัง เขต 2 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting “แจ้งกำชับดูแลความปลอดภัยนักเรียนทุกรูปแบบ”

Share

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายดุสิต ลัคนาศิโรรัตน์ รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 (สพป.ตรัง เขต 2) ได้รับมอบหมายจากนางพัทธนันท์ นิลพัฒน์ ผอ.สพป.ตรัง เขต 2 ให้เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สังกัด สพป.ตรัง เขต 2 จำนวน 133 โรง  ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting จากห้องประชุมอันดามัน 4 สพป.ตรัง เขต 2 

โดยมีประเด็นสำคัญในการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด เช่น สรุปผลการระดมทุนการศึกษา 60 ปี ครองราชย์ ,การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (กีฬาเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศและการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ Cluster 6 ครั้งที่ 3) ,การเบิกจ่ายงบประมาณของสถานศึกษา และการงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัยต่อนักเรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากกรณีที่เกิดเหตุในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กันตัง จ.ตรัง ที่มีนักเรียนได้ไปใช้เครื่องทำน้ำเย็นและถูกไฟฟ้าช็อต ทำให้เกิดเหตุนักเรียนเสียชีวิต สพป.ตรัง เขต 2 ได้แจ้งกำชับมาตรการสำคัญที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้เน้นย้ำมาในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กและเยาวชน และทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีข้อสั่งการไว้ โดยฝากให้โรงเรียนตรวจสอบ ดังนี้ 1) อายุการใช้งานของเครื่องทำน้ำเย็นที่ติดตั้งหมดอายุแล้วหรือไม่ หากหมดอายุให้งดใช้ทันทีเนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียน 2) ต้องใช้เครื่องทำน้ำเย็น ที่ได้มาตรฐานตาม มอก. รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และอย่าต่อพ่วงอุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมกันหลายชนิด ตลอดถึงต้องตรวจสอบอยู่เสมอ 3) ต้องมีการติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติในเครื่องทำน้ำเย็นทุกเครื่อง และหากตรงไหนยังไม่ปลอดภัยต้องให้งดใช้ และหาน้ำดื่มอื่นเข้ามาทดแทนก่อน โดยทาง สพฐ.จะส่งหนังสือแจ้งมายังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน ให้ตรวจสอบอีกครั้ง

รอง ผอ.สพป.ตรัง ได้ฝากย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น จึงต้องช่วยกันระมัดระวังในทุกเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องของไฟฟ้า เรื่องของบ่อน้ำ แอ่งน้ำในสถานศึกษาที่เด็กอาจพลัดตกลงไปได้ต้องปิดให้มิดชิด หรืออาคาร สถานที่ที่มีความชำรุด ทรุดโทรมก็ต้องมีการสำรวจ ตรวจตราอยู่เสมอ หรือมีอาคารสูงๆ ก็ต้องช่วยกันดูแล ตลอดถึงต้นไม้รอบๆ บริเวณโรงเรียน พื้นที่ส่วนไหนมีความอันตรายให้จัดทำป้ายแสดงอาณาเขตให้ชัดเจน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top